วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

การเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ตามแนวพระราชดำริ


การเกษตร “ทฤษฎีใหม่”  ตามแนวพระราชดำริ 
  ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีฝนตกค่อนข้างชุก มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศประมาณ 1,500 มิลลิเมตร และมีฤดูฝนนานประมาณ 5 – 6 เดือน ในอดีตเมื่อป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ น้ำฝนส่วนหนึ่งจะถูกดูดซับไว้ในป่าส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ใต้ดิน อีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บกักไว้ตามที่ลุ่ม เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง และลำธารตามธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจะระเหยสู่บรรยากาศและไหลลงสู่ลำห้วย ลำธาร แม่น้ำ และออกสู่ทะเล น้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในป่าและในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ จะค่อย ๆ ไหลซึมซับออกมาทีละน้อยตลอดปี ส่วนที่ขังอยู่ในหนอง คลอง บึง และแอ่งน้ำต่าง ๆ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในช่วงฤดูแล้ง
        ต่อมาระบบนิเวศน์เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกทำลาย ถูกถากถางเพื่อการเกษตรและกิจกรรมต่าง ๆ ห้วย หนอง คลอง บึงสาธารณะจะตื้นเขิน และถูกบุกรุกเข้าถือครองกรรมสิทธิ์บริเวณทางระบายน้ำออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ ถูกใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคาร ถนน ทางรถไฟ บ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และอื่น ๆ เมื่อฝนตกลงมา น้ำไหลสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วเพราะไม่มีที่เก็บกัก แต่เมื่อกระทบสิ่งกีดขวางก็ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง เมื่อน้ำท่าไหลลงทะเลหมดและไม่มีน้ำจากป่ามาเติม แหล่งน้ำธรรมชาติก็เหือดแห้ง จึงทำให้เกิดแห้งแล้งและขาดน้ำอุปโภค บริโภคอยู่เสมอ เกษตรกรที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตใช้น้ำฝน จึงได้รับความเดือดร้อน ผลิตผลเสียหายเป็นประจำและไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไปหารายได้ในเมืองใหญ่ ๆ และเกิดปัญหาด้านสังคมตามมา
        นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรเรื่อยมา พระองค์ได้ทรงประสบกับสภาพดิน ฟ้า อากาศ และภูมิประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ และทอดพระเนตรความทุกข์ยากแร้นแค้นตลอดจนปัญหาอุปสรรคของการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง จึงทรงตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่าง ๆ จำนวนมาก         สำหรับในด้านการพัฒนาอาชีพของประชาชนในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมาประชาราษฎร์ได้รู้จักกันอย่างดีในนามการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” 
        แนวการพัฒนาชีวิตและอาชีพตามแนวทฤษฎีใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริไว้ 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1) การผลิต ขั้นที่ 2) การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ และขั้นที่ 3) การร่วมมือกับแหล่งเงิน (ธนาคาร) และกับแหล่งพลังงาน 
        สำหรับในบทความนี้จะขอกล่าวเน้นรายละเอียดเฉพาะขั้นที่ 1) การดำเนินการผลิตในที่ดินของเกษตรกรซึ่งเป็นการเริ่มต้นขั้นแรกเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นขั้นที่สำคัญที่สุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น